เกรดของสารเคมีห้องปฏิบัติการนั้นมีเกรดอะไรบ้างและหมายถึงอะไร (Different grades of Laboratory Chemicals) | ApexChem Blog เกรดของสารเคมีห้องปฏิบัติการนั้นมีอะไรบ้าง | ApexChem Blog Apex Chemicals
เกรดของสารเคมีห้องปฏิบัติการนั้นมีเกรดอะไรบ้างและหมายถึงอะไร (Different grades of Laboratory Chemicals)
Posted on 17 Jan 2018

By..Jira Tungvichitreak. and Narisara Mataworn

   

         

           สารเคมีต่างๆ ที่ใช้ในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ทั่วไปและที่มีจำหน่ายในท้องตลาดมีมากมายหลากหลาย มีระดับความบริสุทธ์ เกรดและมาตรฐานที่แตกต่างกัน   สำหรับบางคน อาจเคยได้ยินเกรด AR, COM, LAB, Tech, ACS หรือตัวย่ออื่นๆ อีกมากมายต่อท้ายชื่อสารเคมี และคงสงสัยกันไม่น้อยว่าตัวย่อเหล่านั้นหมายถึงอะไร

           แม้จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีกฎของประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือกฎระหว่างประเทศที่ควบคุมความบริสุทธิ์ของสารเคมีที่แน่นอน แต่หลายองค์กรที่เกี่ยวข้องกับงานด้านวิทยาศาสตร์ก็จะมีหลักเกณฑ์เบื้องต้นในการสร้างมาตรฐานสำหรับสารเคมีต่างๆ ไว้ และโรงงานที่ผลิตสารเคมีส่วนใหญ่ก็ได้ใช้มาตรฐานดังกล่าวแบ่งความบริสุทธิ์ของสารเคมีได้

           ดังนั้น ในบทความนี้ เราจะมาเรียนรู้ถึงเกรดสารเคมีห้องแล็ป หรือ สารเคมีวิเคราะห์สำหรับห้องปฏิบัติการที่มีในปัจจุบัน ความหมายและการนำสารเคมีเกรดต่างๆ ไปใช้ให้เหมาะสมกับงานที่ท่านจะทำการทดลองหรือวิจัยได้อย่างถูกต้อง และได้ประสิทธิภาพสูงสุด

 

สารเคมีที่ใช้ในห้องปฏิบัติการสามารถแบ่งเกรด ตามระดับความบริสุทธิ์และการนำไปใช้งานได้ 10 เกรด ดังนี้

 

1. Technical grade or Commercial grade (สารเคมีเกรดอุตสาหกรรม)

  • ความบริสุทธิ์ (Purity) : มีความบริสุทธิ์ต่ำที่สุด
    ผู้ผลิตมักไม่รับรองปริมาณสารปนเปื้อน ไม่มีรายละเอียดของสิ่งเจือปนและมักไม่ระบุเปอร์เซ็นต์ความบริสุทธิ์ไว้
  • การนำไปใช้งาน (Application)สารเคมีเกรดนี้ ส่วนใหญ่มักไม่นำมาใช้ในห้องปฏิบัติการ หรือใช้ในการวิเคราะห์ทางเคมีเชิงปริมาณ แต่จะนำไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม หรือ เพราะเป็นสารเคมีที่มีสารอื่นเจือปนอยู่มาก จึงทำให้สารเคมีเกรดนี้มีความบริสุทธิ์ของเนื้อสารต่ำ
  • ตัวอย่างการใช้งาน การทดลองทางอุตสาหกรรม เช่น  Sodium hydroxide (NaOH)  ใช้ในการล้างอุปกรณ์ในการแปรรูปนม , KMnO4 ใช้ในการล้างวัตถุดิบ ผักและผลไม้ และ  Hydrochloric acid (HCI) ที่ใช้ในการฟอกสี เป็นต้น ฉลากข้างขวดสาร มักเขียนระบุเป็น Techical หรือ Tech. แล้วแต่บริษัทผู้ผลิต

    

Credit : Reagecon Diagnostics Limited,  

2. C.P. grade (Chemical Pure grade)

  • ความบริสุทธิ์ (Purity) : มีความบริสุทธิ์สูงกว่าเกรด Technical แต่ระดับความบริสุทธิ์เท่าใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับบริษัทที่ทำการผลิต
  • การนำไปใช้งาน (Application)เหมาะสำหรับใช้ในงานวิเคราะห์ทั่วไป (General Applications) แต่ส่วนใหญ่มักใช้ทำ Blank Detection

3. Pharmacopoeia Grade (สารเคมีเกรดยา)

  • ความบริสุทธิ์ (Purity) : มีความบริสุทธิ์สูง แต่ไม่ทราบความบริสุทธิ์ที่แน่นอน แต่ข้อสำคัญยิ่งคือ จะต้องไม่มีสารที่เป็นพิษต่อร่างกายเจือปนอยู่ เป็นสารเคมีที่ผลิตตามเภสัชตำรับมาตรฐานโดยของแต่ละประเทศหรือทวีปก็จะมีชื่อเรียกต่างๆกัน เช่น USP  ของสหรัฐอเมริกา (United State Pharmacopoeia) , BP ของประเทศอังกฤษ (British Pharmacopoeia), EP ของ European Zone (European Pharmacopoeia)  เป็นต้น
  • การนำไปใช้งาน (Application)นิยมใช้ในอุตสาหกรรมผลิตยารักษาโรค หรือใช้สำหรับวิเคราะห์หรือทดสอบงานทางด้านยา (Pharmaceutical), อาหาร (Food), เครื่องสำอาง (Cosmetic)

 

4.  LAB / L.G. (Lab grade / Laboratory grade) or LR grade (Laboratory Reagent grade) : สารเคมีเกรดห้องแล็ป, สารเคมีเกรดห้องปฏิบัติการ

  • ความบริสุทธิ์ (Purity) : สารเคมีเกรดแล็บโดยทั่วไปมีความบริสุทธิ์สูงกว่า 95%*  ผู้ผลิตรับรองความบริสุทธิ์และปริมาณสูงสุดของสารปนเปื้อน

           *ระดับความบริสุทธิ์อาจแตกต่างกันไปตามแต่ละแบรนด์ผู้ผลิต

  • การนำไปใช้งาน (Application)สารเคมีเกรดแล็บนี้ เหมาะกับการใช้งานทั่วๆ ไปในห้องปฏิบัติการ หรืองานเคมีวิเคราะห์อื่นๆ เช่น งานคุณภาพวิเคราะห์ และใช้ในการเตรียมสารละลายมาตรฐานทุติยภูมิ ไม่เหมาะที่จะใช้เป็นสารมาตรฐานปฐมภูมิ 

           ชื่อเรียกของเกรดนี้ แต่ละแบรนด์ก็จะแตกต่างกันไป เช่น  

  1. แบรนด์ Loba Chemie >> Lab grade , Extra pure
  2. แบรนด์ Fisher Chemical >> LAB, SLR
  3. แบรนด์ Merck >> Pure, Lab, EMPLURA
  4. แบรนด์ AJAX >> UNILAB, G.P.R., Purified.
  5. แบรนด์ Fluka >> puram : 95%, puriss : 98.5% 

     

Credit : Loba Chemie PVT. LTD.

5. AR grade (Analytical Reagent grade) or GR grade (Guaranteed Reagent) : สารเคมีเกรดงานวิเคราะห์

  • ความบริสุทธิ์ (Purity)เป็นสารเคมีที่มีความบริสุทธิ์สูงถึง 99.9%*  ซึ่งสูงกว่าสารเคมีเกรดห้องปฏิบัติการ มีสิ่งเจือปนน้อยหรือไม่เกิน 0.02% โดยทั่วไปบริษัทผู้ผลิตจะต้องระบุปริมาณ และชนิดของสิ่งเจือปนไว้บนฉลากอย่างชัดเจน สารเคมีเกรดนี้มีราคาค่อนข้างสูง  

             *ระดับความบริสุทธิ์อาจแตกต่างกันไปตามแต่ละแบรนด์ผู้ผลิต

  • การนำไปใช้งาน (Application) : สารเคมีวิเคราะห์นี้ มักใช้ในงานด้านเคมีวิเคราะห์ทางคุณภาพและปริมาณในห้องปฏิบัติการ ไม่เหมาะนำไปใช้งานทั่วไป เพราะมีราคาแพง แต่จะเหมาะสำหรับใช้ในงานวิเคราะห์ที่ต้องการความถูกต้อง แม่นยำสูงๆ และโดยทั่วไปจะใช้สารเคมีเกรดนี้ในการเตรียมสารละลายมาตรฐานได้ดีที่สุด

   

        Credit : Loba Chemie PVT. LTD.

6. A.C.S. grade (American Chemical Society grade),  ACS certified grade

  • ความบริสุทธิ์ (Purity) : มีความบริสุทธิ์สูง มีคุณสมบัติเหมือนกันกับสารเคมีเกรดงานวิเคราะห์ (A.R. grade) แต่เพิ่มเติมคือการได้รับการรับรอง ความบริสุทธิ์ตรงตามมาตรฐานที่ระบุไว้โดย Reagent Chemicals Committee of the American Chemical Society
  • การนำไปใช้งาน (Application)ใช้ในงานเคมีวิเคราะห์ วิจัยในห้องปฏิบัติการ

   

Credit : Loba Chemie PVT. LTD.

7. HPLC grade (High Performance Liquid Chromatography grade)

  • ความบริสุทธิ์ (Purity) : ความบริสุทธิ์สูงมาก และมีราคาแพง
  • การนำไปใช้งาน (Application)ใช้ในงานวิเคราะห์ วิจัยเฉพาะทางเท่านั้น (Specific-use chemicals) สารเคมีเกรดนี้มักใช้ในงานวิเคราะห์ ที่มีการใช้เครื่อง HPLC (High Performance Liquid Chromatography)

  

Credit : Loba Chemie PVT. LTD.

8. GC grade (Pesticide grade)

  • ความบริสุทธิ์ (Purity) : มีความบริสุทธิ์สูงมาก และราคาสูง
  • การนำไปใช้งาน (Application)ใช้ในงานเฉพาะทางเช่นกัน โดยใช้ในงานด้านการตรวจสอบสารตกค้างต่างๆ หรืองานวิเคราะห์ที่มีการใช้เครื่อง GC (Gas Chromatography)

Credit : Reagecon Diagnostics Limited,

9. LC-MS grade

  • ความบริสุทธิ์ (Purity) : มีความบริสุทธิ์สูงมาก มีสารเจือปนต่ำ ระดับ ppb (หนึ่งในพันล้านส่วน)
  • การนำไปใช้งาน (Application)ใช้ในงานวิเคราะห์ ที่มีการใช้กับเครื่องมือ LC-MS  (Liquid chromatography-Mass Spectrometer)

Credit : Fisher Scientific UK

10. Primary Standard grade (สารมาตรฐานปฐมภูมิ)

  • ความบริสุทธิ์ (Purity) : มีความบริสุทธิ์สูงมาก มีคุณสมบัติเป็นสารมาตรฐานปฐมภูมิ มีใบรับรองแสดงผลการวิเคราะห์ (Certificated of Analysis : COA) ที่แสดงรายละเอียดของสารปนเปื้อนอย่างชัดเจน
  • การนำไปใช้งาน (Application) : ใช้ในการเตรียมสารละลายมาตรฐานชนิด Primary Standard เพื่อใช้ในการไตเตรทหาความเข้มข้นของสารละลายอื่นในการวิเคราะห์โดยการวัดปริมาตร ใช้เป็นสารมาตรฐานสำหรับการวิเคราะห์ การทดสอบทางเคมี และสารมาตรฐานสำหรับการวิเคราะห์โดยใช้เครื่องมือ (working standard)

Credit : Reagecon Diagnostics Limited,

 

ตารางสรุปตัวอย่าง เกรดต่างๆ ของสารเคมี ตามบริษัทฯ ผู้ผลิต


         

         ถึงตรงนี้ ทุกท่านคงได้พอทำความเข้าใจ เกรดสารเคมีต่างๆ ในเบื้องต้นแล้ว ซึ่งสารเคมีเกรดต่างๆ ข้างต้นนั้น ยังมีรายละเอียดอีกมากมายที่ท่านควรนำมาพิจารณา เมื่อต้องมีการเลือกใช้งานสารเคมีวิเคราะห์ หรือสารเคมีแล็บ        

         สำหรับการวิเคราะห์วิจัยนั้นยังต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมกับงาน เพราะจะช่วยทำให้การวิเคราะห์ของท่านได้ผลผิดพลาดน้อยที่สุด เช่น ถ้าท่านต้องการผลการวิเคราะห์ที่มีความแม่นยำสูง ก็ควรเลือกใช้สารเคมีที่มีความบริสุทธิ์สูง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เรื่องราคาหรืองบประมาณก็ยังคงสำคัญเช่นกัน เพราะหากท่านต้องการเลือกใช้สารเคมีความบริสุทธิ์สูง ราคาก็สูงตามเช่นกันเนื่องจากรายงานผลค่าวิเคราะห์ใน COA จะละเอียดมากขึ้นตามไปด้วยนะคะ

 

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก...

           รีเอเจนต์ หน่วยความเข้มข้น และการคำนวณ. 
           January 10, 2018, from : oservice.skru.ac.th
           Web site: http://oservice.skru.ac.th/ebookft/811/chapter_4.pdf

           สารเคมีและความปลอดภัย.
           January 11, 2018, from : agri.wu.ac.th
           Web site: https://sites.google.com/a/rbru.ac.th/computerappliedinchemistry/karte-ri-ym-sarlalay

           Aaron, S. (2017). The Seven Most Common Grades for Chemicals and Reagents.
           January 12, 2018, from : labmanager.com/business-management.
           Web site: http://www.labmanager.com/business-management/2017/11/the-seven-most-common-grades-for-chemicals-and- reagents#.Wl1--K6WbIV

           Korean L. (2013). A guide to Chemical Grades​.
           January 14, 2018, from : http://camblab.info
           Web site: http://camblab.info/wp/index.php/a-guide-to-chemical-grades/

ขอขอบคุณรูปภาพประกอบหน้าปกจาก : http://whitneyfirm.com/legal-resources/dorsey-hall-medical-laboratory-testing-and-diagnostic-error-attorney/

Leave a Reply
Your email address will not be published. Required fields are marked *
“*required, will not be published” 30