ในบทความก่อนหน้านี้ เราได้พูดถึงการแบ่งเกรดของสารเคมีไปแล้ว แต่หลายท่านอาจยังสงสัยว่า สารเคมีมีตั้งหลายเกรด แล้วเกรดไหนมีความบริสุทธิ์สูงสุดหล่ะ? วันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจให้ทุกท่าน
การใช้งานและประโยชน์ของสารเคมีแต่ละเกรด
( สำหรับบทความก่อนหน้า อ่านเพิ่มเติมได้จาก ที่นี่ )
เราพอทราบกันแล้วว่าสารเคมีโดยทั่วไป สามารถจำแนกได้ตามระดับความบริสุทธิ์ออกเป็น 3 ประเภท ตามลักษณะการใช้งาน เพื่อให้จำแนกได้โดยง่าย เราได้รวบรวมข้อมูลดังกล่าวมาให้ทุกท่านศึกษาตามรูปด้านล่างค่ะ
รูปภาพแสดงระดับความบริสุทธิ์ของสารเคมีแต่ละเกรด (จากต่ำไปสูง)
ความบริสุทธิ์และการนำไปใช้งานของสารเคมีแต่ละประเภท มีรายละเอียดดังนี้
Credit : Reagecon Diagnostics Limited,
1.สารเคมีสำหรับการค้า
1.1 สารเคมีเกรดอุตสาหกรรม (Commercial or Technical grade)
- ความบริสุทธิ์ (Purity) : มีความบริสุทธิ์ต่ำสุด ผู้ผลิตมักไม่ระบุปริมาณสารปนเปื้อนและรายละเอียดสิ่งเจือปน รวมถึงระดับความบริสุทธิ์
- การนำไปใช้งาน (Application) : สารเคมีเกรดนี้ ไม่เหมาะสมในการใช้งานในห้องปฏิบัติการ หรือในการวิเคราะห์ทางเคมีเชิงปริมาณ เนื่องจากมีสารอื่นเจือปนอยู่มาก มักนำไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม
- ตัวอย่างการใช้งาน : การผลิตในอุตสาหกรรมหรือในไลน์ผลิตต่างๆ เช่น Sodium hydroxide (NaOH) สำหรับใช้ในการล้างอุปกรณ์ ใช้ในการแปรรูปนม, Potassium permanganate ( KMnO4) ใช้ในการล้างวัตถุดิบ ผักผลไม้ เป็นต้น
1.2 สารเคมีเกรดวิเคราะห์ทั่วไป (Chemical Pure grade: C.P. grade)
- ความบริสุทธิ์ (Purity) : มีความบริสุทธิ์สูงกว่าเกรดอุตสาหกรรม
- การนำไปใช้งาน (Application) : สารเคมีเกรดนี้มีการนำไปใช้ในห้องปฏิบัติการทั่วไป โดยใช้ในการเตรียมสารละลายความเข้มข้นต่างๆ ที่มีความละเอียดไม่มาก
- ตัวอย่างการใช้งาน : เหมาะกับการใช้งานทั่วๆไปในห้องปฏิบัติการ เช่น การเตรียมสารละลาย โซเดียมคาร์บอเนต (Na2CO3) จากตัวอย่างที่เป็นของแข็ง
2. สารเคมีสาหรับการวิเคราะห์ทั่วไป
2.1 สารเคมีเกรดห้องแล็ป (Lab grade / Laboratory grade: LAB / L.G.)
- ความบริสุทธิ์ (Purity) : มีความบริสุทธิ์ไม่ต่ำกว่า 95% ผู้ผลิตรับรองความบริสุทธิ์และแสดงปริมาณสารเจือปนไม่เกินค่าที่กำหนด
หมายเหตุ : ระดับความบริสุทธิ์อาจแตกต่างกันไปตามแต่ละแบรนด์ผู้ผลิต
- การนำไปใช้งาน (Application) : เหมาะกับการใช้งานทั่วไปในห้องปฏิบัติการ หรืองานวิเคราะห์ทั่วไป เช่น งานคุณภาพวิเคราะห์ และใช้ในการเตรียมสารละลายมาตรฐานทุติยภูมิ จึงไม่เหมาะกับการเตรียมสารมาตรฐานปฐมภูมิ
หมายเหตุ : สารละลายมาตรฐานทุติยภูมิ คือสารละลาย มาตรฐานที่เตรียมโดยเทียบจาก สารละลายมาตรฐานปฐมภูมิ
สารละลายมาตรฐานปฐมภูมิ คือ สารละลายมาตรฐานที่ได้รับการรับรองในการผลิตสาร Reference Materials เช่น USP, BP, ISO 17034
- ตัวอย่างการใช้งาน : ใช้เตรียมสารละลายมาตรฐานทุติยภูมิ เพื่อทดสอบสิ่งเจือปนในตัวยาสำคัญ
Credit : Loba Chemie PVT. LTD.
2.2 สารเคมีเกรดยา (Pharmaceutical grade) หรือ (National Formulary grade: N.F. grade)
- ความบริสุทธิ์ (Purity) : มีความบริสุทธิ์สูง โดยเป็นสารเคมีที่ผลิตตามมาตรฐานเภสัชตำรับของแต่ละประเทศหรือทวีป โดยมีชื่อเรียกต่างกัน เช่น USP ของประเทศสหรัฐอเมริกา (United State Pharmacopoiea), EP ของทวีปยุโรป (European Pharmacopoeia) BP ประเทศอังกฤษ (ฺBritish Pharmacopoeia)เป็นต้น
- การนำไปใช้งาน (Application) : นิยมใช้สำหรับวิเคราะห์หรือทดสอบ งานทางด้านยา (Pharmaceutical), อาหาร (Food) และ เครื่องสำอาง (Cosmetic)
2.3 สารเคมีเกรดงานวิเคราะห์ (Analytical reagent grade / AR grade / Reagent grade)
- ความบริสุทธิ์ (Purity) : เป็นสารเคมีที่มีความบริสุทธิ์ไม่ต่ำกว่า 99% ซึ่งสูงกว่าสารเคมีเกรดห้องแล็ป โดยทั่วไปผู้ผลิตจะต้องระบุปริมาณ และชนิดของสิ่งเจือปนไว้บนฉลากอย่างชัดเจน
*ระดับความบริสุทธิ์อาจแตกต่างกันไปตามแต่ละแบรนด์ผู้ผลิต
- การนำไปใช้งาน (Application) : มักใช้ในงานเคมีวิเคราะห์ทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ เหมาะสำหรับใช้ในงานวิเคราะห์ที่ต้องการความถูกต้อง แม่นยำสูง
Credit : Loba Chemie PVT. LTD.
2.4 สารเคมีเกรด ACS Certified (American Chemical Society: A.C.S. grade)
- ความบริสุทธิ์ (Purity) : มีความบริสุทธิ์สูง และคุณสมบัติเหมือนกันกับสารเคมีเกรดงานวิเคราะห์ (AR. grade) ได้รับการรับรองความบริสุทธิ์ตามมาตรฐานที่ระบุไว้โดย Reagent Chemicals Committee of the American Chemical Society
- การนำไปใช้งาน (Application) : ใช้ในงานเคมีวิเคราะห์วิจัยในห้องปฏิบัติการเช่นเดียวกับ A.R. grade
Credit : Loba Chemie PVT. LTD.
2.5 สารเคมีเกรดทุติยภูมิ (Secondary Standard: 2๐ Std. grade)
- ความบริสุทธิ์ (Purity) : มีความบริสุทธิ์เกือบเทียบเท่าสารเกรดปฐมภูมิ เนื่องจากสารเกรดนี้ถูกผลิตโดยใช้สารเกรดปฐมภูมิเป็นตัวอ้างอิง จึงมีราคาที่ต่ำกว่า โดยจะประกอบกับใบรับรองแสดงผลการวิเคราะห์ (Certificated of Analysis : COA) ที่อ้างถึงตัวต้นแบบที่ใช้ผลิต
- การนำไปใช้งาน (Application) : ใช้ในงานเช่นเดียวกับสารเกรดปฐมภูมิ แต่ส่วนมากจะใช้สำหรับตรวจสอบภายใน หากเป็นงานทางด้านการผลิตยาจะไม่สามารถนำไปใช้วิเคราะห์เพื่อขึ้นทะเบียนยาได้ เนื่องจากสารเกรดนี้ไม่มีการรับรองในเรื่องคุณสมบัติการผลิตสาร Reference Materials
- ตัวอย่างการใช้งาน : ในอุตสาหกรรมการผลิตยาเพื่อใช้ทดสอบภายใน เช่น Cetirizine Hydrochloride Secondary Standard ที่ผลิตจากการ Standardization จาก Primary Standard ของ USP เพื่อใช้ผลิตยาในกลุ่มยาแก้แพ้ (Antihistamine)
2.6 สารเคมีเกรดปฐมภูมิ (Primary Standard: 1๐ Std. grade)
- ความบริสุทธิ์ (Purity) : มีความบริสุทธิ์สูงมาก มีคุณสมบัติเป็นสารมาตรฐานปฐมภูมิ ซึ่งประกอบกับใบรับรองแสดงผลการวิเคราะห์ (Certificated of Analysis : COA) ที่ได้รับการรับรองผ่าน ISO 17034 ซึ่งแสดงถึงคุณสมบัติการผลิตสาร Reference Materials
- การนำไปใช้งาน (Application) : ใช้ในการเตรียมสารละลายมาตรฐานชนิด Primary Standard เพื่อใช้ไตเตรทหาความเข้มข้นของสารละลายอื่นในการวิเคราะห์โดยการวัดปริมาตร ใช้เป็นสารมาตรฐานสำหรับการวิเคราะห์ การทดสอบทางเคมี, สารมาตรฐานสำหรับการวิเคราะห์โดยใช้เครื่องมือ (Working standard) และสารมาตรฐานสำหรับการวิเคราะห์ปริมาณสิ่งเจือปนในยา
Credit: Reagecon Diagnostics Limited. and Pharmaffiliates. LTD.
3. สารเคมีสำหรับงานวิเคราะห์เฉพาะอย่าง
3.1 สารเคมีสำหรับใช้กับเครื่อง Karl Fischer (Karl Fischer grade: KF grade)
- ความบริสุทธิ์ (Purity) : เป็นสารเคมีที่มีความบริสุทธิ์สูงเทียบเท่าเกรด AR. ที่ใช้ในห้องปฏิบัติการ โดยทั่วไปผู้ผลิตจะต้องระบุปริมาณ และชนิดของสิ่งเจือปนไว้บนฉลากอย่างชัดเจน
- การนำไปใช้งาน (Application) : ใช้ตรวจสอบปริมาณน้ำและสิ่งปนเปื้อนในตัวอย่างกับเครื่อง Karl Fisher นิยมใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตยา
Credit : shop-lab-honeywell.com
3.2 สารเคมีสำหรับใช้วิเคราะห์การไทเทรต (Volumetric analysis grade)
- ความบริสุทธิ์ (Purity) : มีความบริสุทธิ์สูง และสามารถสอบกลับได้ตาม NIST (SRM) ประกอบกับใบรับรองผลการวิเคราะห์ (Certificate of analysis : COA) ที่อ้างถึงขั้นตอนการวิเคราะห์
- การนำไปใช้งาน (Application) : สารละลายที่ความเข้มข้นต่างๆ สำหรับใช้ในการวิเคราะห์ไทเทรต มีทั้งแบบพร้อมใช้ (Ready to use) และแบบเตรียมเอง (Concentrated) ซึ่งสารเคมีเกรดนี้สามารถใช้ควบคุมคุณภาพของงานวิเคราะห์ได้เป็นอย่างดี
Credit : Reagecon Diagnostics Limitedand Loba Chemie PVT. LTD.
3.3 สารเคมีสำหรับใช้กับงานด้านสเปกโทรเมทรี (Spectroscopic grade)
- ความบริสุทธิ์ (Purity) : ความบริสุทธิ์สูง มักใช้ในงานวิเคราะห์ทางด้าน Spectroscopy เพื่อตรวจสอบและระบุลักษณะของสารตัวอย่าง รวมถึงใช้ในการวัดความเข้มของสีด้วย
- การนำไปใช้งาน (Application) : ใช้กับเครื่องกลุ่ม Spectrophotometers เช่น UV Spectrophotometer, IR Spectrophotometer, Colorimeter, ฯลฯ
Credit : Reagecon Diagnostics Limited
3.4 สารเคมีสำหรับใช้กับเครื่อง NMR (Nucelar Magnetic Resonance Spectroscooy: NMR grade)
- ความบริสุทธิ์ (Purity) : ความบริสุทธิ์สูงกว่า Spectroscopic grade เพื่อวัดสัญญาณหาโครงสร้างของสารประกอบทางเคมี
- การนำไปใช้งาน (Application) : ใช้สำหรับงานวิเคราะห์หาโครงสร้างของส่วนประกอบทางเคมีกับเครื่อง Nuclear Magnetic Resonance Spectrometer เท่านั้น
Credit : Bruker BioSpin Limited
3.5 สารเคมีสำหรับใช้กับงานด้านกัมมันตรังสี (Scintillation grade)
- ความบริสุทธิ์ (Purity) : ความบริสุทธิ์สูง ใช้สำหรับวิจัยหรือทดลองตามวัตถุประสงค์ที่ผลิตขึ้นมา เนื่องจากงานมีความอันตรายในระดับหนึ่ง
- การนำไปใช้งาน (Application) : ใช้สำหรับงานด้านการวิเคราะห์ที่เกี่ยวกับกัมมันตภาพรังสี ซึ่งมีความเป็นพิษ ควรระมัดระวังในการใช้งานเป็นอย่างมาก
3.6 สารเคมีสำหรับใช้กับงานด้านโครมาโทกราฟี (Chromatographic grade)
- ความบริสุทธิ์ (Purity) : ความบริสุทธิ์สูงมาก ซึ่งแบ่งเป็นหลายเกรดตามเทคนิคการใช้ในงานวิเคราะห์กับเครื่องมือแต่ละประเภท เช่น HPLC grade, GC grade, LC-MS grade, UHPLC-MS
- การนำไปใช้งาน (Application) : ใช้เป็นตัวทำละลายกับงานวิเคราะห์เฉพาะทาง เช่น HPLC grade ใช้กับเครื่อง HPLC สำหรับเป็น Mobile phase หรือ GC grade ใช้กับเครื่อง GC ในงานด้านการตรวจสอบสารตกค้างต่างๆ
3.7 สารเคมีสำหรับใช้กับงานด้าน Moisture sensitive chemistry, Peptide synthesis (Extra-Dry grade)
- ความบริสุทธิ์ (Purity) : ความบริสุทธิ์สูง มีราคาแพง และมีปริมาณน้ำต่ำกว่า 10 ppm เพื่อให้ตัวสารปราศจากความชื้น
- การนำไปใช้งาน (Application) : ใช้เป็นตัวทำละลายในงานทางด้านการสังเคราะห์ทาง Organic ที่มีความละเอียดสูง โดยมีจำนวนน้ำต่ำเพื่อลดปริมาณการตกค้างและสิ่งเจือปนที่ผสมมากับน้ำ เช่น Methanol Dry, Acetonitrile Dry, ฯลฯ
3.8 สารเคมีความบริสุทธิ์สูงสำหรับใช้กับงานวิเคราะห์สารโลหะตกค้างหรือเจือปน
- ความบริสุทธิ์ (Purity) : มีความบริสุทธิ์สูงมาก ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ Trace Elemental Analysis grade (มีปริมาณ Impurity ในระดับ ppm) และ Ultra-Trace Elemental Analysis grade ( มีปริมาณ Impurity ในระดับ ppb )
- การนำไปใช้งาน (Application) : ใช้สำหรับวิเคราะห์โลหะตกค้างมักใช้ในงานสิ่งแวดล้อม อาหาร และอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีการใช้เครื่องมือ ICP, ICP-MS
ทางเราหวังว่าบทความนี้จะมีส่วนช่วยในการตัดสินใจเพื่อเลือกซื้อสารเคมีให้เหมาะสมกับงาน ซึ่งนำไปสู่ผลการวิเคราะห์ที่มีประสิทธิภาพและถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้นนะคะ
#Chemicals #ChemicalsGrade #APEXCHEMICALS #LearningCenterbyAPEXCHEMICALS
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก...
รีเอเจนต์ หน่วยความเข้มข้น และการคำนวณ.
January 10, 2018, from : oservice.skru.ac.th
Web site: http://oservice.skru.ac.th/ebookft/811/chapter_4.pdf
สารเคมีและความปลอดภัย.
January 11, 2018, from : agri.wu.ac.th
Web site: https://sites.google.com/a/rbru.ac.th/computerappliedinchemistry/karte-ri-ym-sarlalay
Aaron, S. (2017). The Seven Most Common Grades for Chemicals and Reagents.
Web site: https://www.labmanager.com/business-management/2017/11/the-seven-most-common-grades-for-chemicals-and-reagents#.Wl1--K6WbIV
Korean L. (2013). A guide to Chemical Grades.
Web site : http://camblab.info/wp/index.php/a-guide-to-chemical-grades/
ขอบคุณรูปภาพประกอบหน้าปกจาก :
- https://whitneyfirm.com/legal-resources/dorsey-hall-medical-laboratory-testing-and-diagnostic-error-attorney/
- http://springboardww.com/index.php/pharma-biotech