ปัจจุบัน “วัสดุอ้างอิง (Reference Materials : RM)” และ “วัสดุอ้างอิงรับรอง (Certified Reference Materials)” ถูกใช้งานโดยมาก ในด้านการรับรองความสามารถผลการทดสอบวิเคราะห์ของห้องปฏิบัติการ และการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะทางด้านเคมี สิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรมยา เพื่อให้ได้มาซึ่งผลการทดลองที่น่าเชื่อถือ และสอดคล้องกับ ความต้องการของลูกค้า วิธีการและเครื่องมือที่เหมาะสม รวมถึงการสอบกลับได้และความไม่แน่นอน ซึ่งผ่านการตรวจประเมินโดยหนวยงานต่างๆ ดังนั้นในบทความนี้เราจึงมีวัตถุประสงค์จัดทำขึ้นเพื่อ เป็นแนวทางในการพิจารณาหลักเกณฑ์การใช้วัสดุอ้างอิงในการวิเคราะห์/ตรวจสอบ ให้กับผู้ประเมินและห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนนักวิจัยที่ไม่ทราบข้อมูลด้านนี้มาก่อน เพื่อให้ได้การประกันคุณภาพที่เหมาะสมที่สุด หากพร้อมแล้ว มาดูกันเลย…
วัสดุอ้างอิง (Reference Materials; RM) หรือในทางเคมีอาจเรียกอีกอย่างว่า สารมาตรฐานอ้างอิง (Reference Standards) อาจอยู่ในรูปของ ของแข็ง ของเหลว หรือก๊าซ รวมถึงสารบริสุทธิ์ หรือ ของผสมเช่น สารละลายที่ใช้ในการ ปรับเทียบ การวิเคราะห์ทางเคมี เป็นต้น ซึ่งจัดเป็นวัสดุหรือสารที่มีสมบัติหนึ่งอย่างหรือหลายอย่าง โดยมีคุณสมบัติที่แสดงถึงความเป็น RM อยู่ 2 ประการหลักๆ คือ ความเป็นเนื้อเดียวกัน (Homogeneity) และการมี เสถียรภาพ (Stability) ที่ระบุเพียงพอให้เหมาะสมกับการใช้งานตามวัตถุประสงคของกระบวนการสอบเทียบอุปกรณ์ในการประเมินวิธีการตรวจวัด หรือใช้ในการกำหนดค่าวัสดุต่างๆ
วัสดุอ้างอิงรับรอง (Certified Reference Materials; CRM) หมายถึง วัสดุอ้างอิงที่มีการระบุค่าของสมบัติที่ครอบคลุมโดยผ่านกระบวนการทดสอบและมีมาตรฐานการผลิตที่เข้มงวดมากกว่า วัสดุอ้างอิง (RM) ซึ่งวัสดุหรือสารมาตรฐานใดที่จะเป็น CRM ได้นั้นจะต้องประกอบไปด้วยการแสดงผลคุณสมบัติที่สำคัญดังนี้ การรับรองที่สามารถสอบกลับไปยังหน่วยงานที่ถูกต้องซึ่งเป็นที่ยอมรับได้ หรือ การสอบกลับได้ (Traceability) และ ความไม่แน่นอนของการวัด (Uncertainty) ณ ระดับความเชื่อมั่นหนึ่ง เพิ่มเติมจากคุณสมบัติ 2 ข้อของ RM โดยใชวิธีดำเนินการที่สมเหตุสมผลและมีเอกสารกำกับ (ใบ Certificate) ซึ่งออกโดยองคกรที่มีอำนาจ ภายใต้ข้อกำหนดด้านวิชาการ (ISO/IEC 17025)
โดยข้อกำหนดด้านวิชาการ (ISO/IEC 17025) มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ตรวจสอบการใช้งานและความถูกต้องของวิธีทดสอบที่ไม่ใช่วิธีมาตรฐาน หรือนอกเหนือจากขอบข่ายวิธีทดสอบที่ห้องปฏิบัติการพัฒนาขึ้น ซึ่งสามารถตรวจสอบความสอบกลับได้ของการวัดและใช้ในการประกันคุณภาพของผลการทดสอบ ซึ่งมีการใช้วัสดุอ้างอิงประกอบการทดสอบในหัวข้อดังนี้
- การเปรียบเทียบวิธีทดสอบ (Method Comparison)
- การพัฒนาวิธีทดสอบและการตรวจสอบความใช้ได้ของวิธีทดสอบ (Method Development and Validation)
- การทวนสอบวิธีทดสอบ (Method Verification)
- การทดสอบเทียบ (Calibration)
- การประกันคุณภาพ (Quality Assurance)
- การฝึกอบรมบุคลากรด้านวิชาการ (On the Job of Training)
นอกจากนี้ RM ยังมีอีกประเภทคือ วัสดุอ้างอิงมาตรฐาน (Standard Reference Materials; SRMs) ซึ่งหมายถึงวัสดุอ้างอิงรับรอง ที่ผลิตโดยสถาบันแห่งชาติของมาตรฐานและเทคโนโลยี (National Institute of Standards and Technology; NIST), USA ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ โดยเป็นผู้สนับสนุนและรักษามาตรฐานการวัดรวมถึงโครงการสำหรับการเข้าร่วมและช่วยเหลืออุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาการใช้มาตรฐานเหล่านี้
สิ่งสำคัญอีกอย่างคือการอ้างอิงจากมาตรฐาน ISO ซึ่งมาตรฐานหลักที่เกี่ยวข้องกับ RM/CRM ที่อยู่ในหมวด ISO Guide 30 Series มีดังนี้
ISO Guide 34 (ปัจจุบันเรียก ISO 17034) จัดเป็นมาตรฐานที่สำคัญที่สุดสำหรับการจำแนกวัสดุอ้างอิง เนื่องจากสารที่จะเรียกว่าเป็น CRM ได้นั้นจะต้องผ่านกระบวนการผลิตและทดสอบที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานดังกล่าวมาก่อน ในขณะที่ผู้ผลิต RM นั้นไม่จำเป็นต้องได้รับการรับรองในส่วนนี้
ตัวอย่างใบแสดงผลการรับรอง (Certificate of Analysis) ISO Guide 34 จากแบรนด์ผู้ผลิตสารมาตรฐาน Pharmaffiliates
จากเนื้อหาข้างต้นทุกท่านน่าจะพอเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างสารเคมีเกรดทั่วไปกับสารเคมีเกรดวัสดุอ้างอิงในเรื่องของคุณสมบัติต่างๆแล้ว ซึ่งโดยปกติผู้ใช้งานจะวิเคราะห์การนำไปใช้จากค่าความบริสุทธิ์ของสาร (%Purity) และพารามิเตอร์อื่นๆ ที่แสดงความปนเปื้อนอยู่ใน ใบรับรองผลการวิเคราะห์หรือ COA วันนี้เราจึงได้นำตัวอย่าง COA ของสารมาตรฐานที่มีการรับรองภายใต้มาตรฐาน ISO 17034 มาให้ได้พิจารณากัน อยู่ด้านล่างนี้เลย..
Note: คำอธิบายศัพท์เฉพาะที่ปรากฏในบทความ
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก...
การใช้วัสดุอ้างอิง /วัสดุอ้างอิงรับรอง (RM/CRM) ในห้องปฏิบัติการ
March 30, 2020, from Central Equipment Division
Web site: http://ced.sci.psu.ac.th/km/documents/crm-rm
https://reo16.mnre.go.th/reo16/files/com_news/2012-06/20120608_pypgfwti.pdf
วัสดุอ้างอิงคืออะไร?
March 30, 2020, from the Department of Medical Sciences
Web site: http://webdb.dmsc.moph.go.th/rm/
NIST
March 31, 2020 from: Wide base
Web site: http://www.widebase.net/knowledge/itterm/it_term_desc.php?term_id=NIST
การขอการรับรองตามมาตรฐาน ISO Guide 34 (สำหรับการผลิตสารมาตรฐาน)
April 1, 2020 from: กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
Web site: http://www.dmsc.moph.go.th/userfiles/files/ISO%20Guide34.pdf