PM 2.5 : ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่ความอันตรายไม่เล็ก | ApexChem Blog Apex Chemicals
PM 2.5 : ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่ความอันตรายไม่เล็ก
Posted on 27 Apr 2023

 

PM 2.5 : ฝุ่นละอองขนาดเล็ก แต่ความอันตรายไม่เล็ก!

 

ครั้งนี้เราจะมาเจาะลึกกันในหัวข้อ PM 2.5 เจ้าฝุ่นจิ๋วที่ทุกคนเคยได้ยินบ่อย แต่รู้หรือไม่ว่าเจ้าฝุ่นละอองขนาดเล็ก นั้นมีความอันตรายที่ไม่เล็กเหมือนกับขนาด! เพราะด้วยความที่มีขนาดเล็กมาก ๆ จึงสามารถเข้าไปในร่างกายเราได้อย่างง่ายดายและส่งผลต่อสุขภาพได้อย่างรุนแรงกันเลยทีเดียว


ในปัจจุบัน อย่างที่เราทราบกันเป็นอย่างดีว่า การสวม"หน้ากากอนามัย"ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของผู้คนไปแล้ว นั่นเพราะหลังจากวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา ยังมีวิกฤติที่รุนแรงอีกหนึ่งสิ่งที่ประเทศไทยหรือหลายๆประเทศทั่วโลกยังต้องเผชิญนั่นคือ “PM 2.5” เจ้านี่เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดอากาศที่มีมลพิษเกินค่ามาตรฐานตามที่ WHO หรือองค์การอนามัยโลกกำหนดไว้

ซึ่งในวันนี้เราจึงจะพาไปดูว่าฝุ่น PM2.5 คืออะไร? และหากสัมผัสมากเกินไปจะเกิดอะไรขึ้น! ส่งผลกระทบอย่างไรต่อเราบ้าง? 

มาทำความรู้กันอย่างแรกเลย ที่มาของชื่อนั่นเอง เจ้า PM 2.5 มีอีกชื่อหนึ่งว่า Fine Particle Matter, Particulate matter ส่วนเลข 2.5 เป็นเลขระบุขนาดของฝุ่นละออง โดยฝุ่นละอองเหล่านี้เล็กมากๆจนต้องใช้หน่วยทางฟิสิกส์ที่เรียกว่า ไมครอน เพื่อบอกขนาดกันเลยทีเดียว

 

"ไมครอน" เป็นหน่วยวัดความยาวของวัตถุที่มีขนาดเล็กมากๆ เป็นคำย่อจาก"ไมโครเมตร" ใช้สัญลักษณ์ µm
ซึ่ง 1 ไมครอน มีค่า = 1 ในล้านของ 1 เมตร
และ 1 ไมครอน มีค่า = 1 ในพันของ 1 มิลลิเมตร หรือ 0.001 มิลลิเมตร เล็กกว่าเส้นผมของคนเราซะอีกนะ

ถึงแม้ว่าฝุ่น PM 2.5 จะมีขนาดเล็กมาก ถึงขนาดไมครอน แต่ถ้าหากเราสัมผัสกับ PM 2.5 มากเกินไป จะส่งผลต่อสุขภาพร่างกายแบบไม่เล็กเลย ดังนั้นเราไปดูตัวอย่าง ปัญหาที่ส่งผลต่อร่างกายเกิดจากการสัมผัสกับ PM 2.5 ตามด้านล่างเลย..

 

ระบบทางเดินหายใจ
เนื่องจากอนุภาค PM2.5 สามารถซึมลึกเข้าไปในปอดได้ง่าย จึงมีผลให้เกิดสภาวะทางเดินหายใจบกพร่อง เช่น หอบหืด หลอดลมอักเสบเรื้อรัง และถุงลมโป่งพอง รวมถึงอาจทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของปอดลดลงและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 

หัวใจและหลอดเลือด
มีผลต่อการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจและหลอดเลือดอื่นๆ อนุภาคจะทำให้เกิดการอักเสบและความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชั่น ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดหลอดเลือดตีบตันและขัดขวางจังหวะการเต้นของหัวใจได้

ความเสี่ยงต่อมะเร็ง
เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปอด จากส่วนประกอบบางอย่างของ PM2.5 เช่น โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) และโลหะหนัก ที่เป็นสาเหตุในการก่อมะเร็ง

ระบบประสาท
มีผลเสียต่อระบบประสาทโดยตรง โดยเพิ่มความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์และโรคพาร์กินสันได้

 

ดังนั้นเราควรมีวิธีการรับมือ ดังนี้ 

  • ติดตามรายงานสภาพอากาศและระดับ PM 2.5 อย่างสม่ำเสมอ

  • การอาศัยในบ้านหรืออาคารควรใช้เครื่องฟอกอากาศที่สามารถกรองฝุ่น PM 2.5 ได้

  • สวมหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ หรือ สวมหน้ากาก N95 เมื่อต้องออกจากบ้านหรืออาคาร

  • ลดเวลาการอยู่นอกบ้าน/อาคารโดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อ PM 2.5 สูง เช่น เด็ก หญิงตั้งครรภ์ คนชรา ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคภูมิแพ้ โรคปอด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไตเรื้อรัง

  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้ง
     

ขอบคุณที่ท่านเลือกติดตามคอนเทนต์ของเรา เราเชื่ออย่างยิ่งว่าการป้องกันและการลดอันตรายของ PM 2.5 เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพของเราและสิ่งแวดล้อมรอบข้างเรา โดยเราหวังว่าคอนเทนต์ของเราจะช่วยเพิ่มความเข้าใจและสร้างความตระหนักในการป้องกัน PM 2.5 ในชุมชนและสังคมของเราทั้งหมด เราจะช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนเริ่มเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและทำสิ่งที่ดีต่อสุขภาพของเราและสิ่งแวดล้อมรอบข้างเรากันต่อไป  

 

#PM2.5 #ฝุ่นPM2.5  #airpollution #environmentalhealth #สุขภาพทางเดินหายใจ #สุขภาพสิ่งแวดล้อม #คุณภาพอากาศ