ลูกอม (Candy) เรื่องน่ารู้ของขนมยอดฮิตในเทศกาลฮาโลวีน | ApexChem Blog Apex Chemicals
ลูกอม (Candy) เรื่องน่ารู้ของขนมยอดฮิตในเทศกาลฮาโลวีน
Posted on 27 Oct 2023

ลูกอม (Candy) เรื่องน่ารู้ของขนมยอดฮิตในเทศกาลฮาโลวีน

 

“Trick or Treat” กิจกรรมยอดฮิตของเด็ก ๆ ที่จะแต่งตัวเลียนแบบภูต ปีศาจ ฮีโร่ หรือตัวการ์ตูนที่ชอบ เดินไปเคาะประตูตามบ้าน แล้วกล่าวคำว่า “Trick or Treat” ที่แปลว่า หลอกหรือเลี้ยง ในเทศกาลวันฮาโลวีน (Halloween) วันที่ 31 ตุลาคมของทุกปี 

วันฮาโลวีน (Halloween day) หรือที่เรียกกันเป็นภาษาปากว่า วันปล่อยผี มีที่มาจากวันฉลองปีใหม่ของชาวเคลต์ (Celt) ซึ่งถือว่าเป็นวันสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยว และในวันที่ 31 ตุลาคม ชาวเคลต์มีความเชื่อว่าเป็นวันที่โลกนี้และโลกหน้าโคจรมาใกล้กันมากที่สุด ทำให้พวกเขาต้องหาทางที่จะไม่ให้วิญญาณมาสิงร่าง จึงเกิดเป็นวัฒนธรรมการแต่งตัวเป็นภูต หรือปีศาจ จนปัจจุบันได้กลายเป็นเทศกาลที่ผู้คนออกมาแต่งตัว สร้างสีสัน และรอยยิ้มเสียมากกว่า

 

แต่รู้หรือไม่  “ลูกอม” หรือ “Candy” ที่เป็นขนมยอดนิยมในการเล่น “Trick or Treat” ก็มีส่วนประกอบมาจากเคมีเหมือนกัน โดยเริ่มจากองค์ประกอบหลักของลูกอมหรือก็คือสารให้ความหวาน หรือน้ำตาล เช่น น้ำตาลทราย (Sucrose) น้ำเชื่อมกลูโคส (Glucose syrup) หรือ น้ำตาลฟรักโทส (Fructose syrup) เป็นต้น แต่ในปัจจุบันได้มีเทรนด์รักสุขภาพมากขึ้น ที่จะใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลอย่าง ซอร์บิทอล (Sorbitol) แมนนิทอล (Mannitol) แทนน้ำตาลกลูโคส และในลูกอมยังมีสารเติมแต่งในอาหาร / วัตถุเจือปนอาหาร (Food Additive) เช่น สารเติมแต่งรสหรือกลิ่น (Flavoring agent) หรือ สารแต่งสี (Coloring agent) เป็นต้น

 

นอกจากนี้ลูกอมยังมีส่วนประกอบของสารเคมีสกัดอื่น ๆ อีก เช่น กรดอินทรีย์ (Organic Acid) ที่มักจะใช้เป็นสารเติมแต่งในอาหาร หรือ วัตถุเจือปนอาหาร (Food Additive) โดยกรดที่นิยมใช้ในการผลิตลูกอม ได้แก่ 

 

  • กรดซิตริก (Citric Acid)

เป็นกรดอ่อน (weak acid) พบตามธรรมชาติในอาหารหลายชนิดได้แก่ พืชตระกูลส้ม (citrus) เช่น ส้ม มะนาว และผลไม้อีกหลายชนิด
ทั่วไปแล้วกรดซิตริกผลิตจากน้ำมะนาว แต่ในปัจจุบันนิยมสังเคราะห์กรดซิตริกจากการหมักกากน้ำตาลด้วยจุลินทรีย์ โดยจุลินทรีย์ที่นิยมใช้มี 2 ประเภทคือ เชื้อรา Aspergillus Niger และยีสต์ Cadida Lypolitica 
กรดซิตริกมีหน้าที่ :
- ปรับความเป็นกรดในอาหาร และเครื่องดื่ม
- ปรุงแต่ง กลิ่นรส (flavoring agent) ปรับให้อาหารมีรสเปรี้ยว
- เป็นสารกันหืน (antioxidant)
- เป็นสารกันเสีย (preservative)
- สารช่วยจับอนุมูลอิสระ (Sequestrant)

 

 

  • กรดทาร์ทาริก (Tartaric Acid) 

พบตามธรรมชาติในผลไม้บางชนิด เช่น องุ่น มะขาม และเป็นกรดที่สามารถพบได้ในไวน์ 
กรดทาร์ทาริกมีหน้าที่ :
- เสริมฤทธิ์กันหืน
- ช่วยจับอนุมูลโลหะ (chelating agent)
- อิมัลซิไฟเออร์ (emulsifier) ช่วยทำให้อิมัลชันมีความคงตัว
- ปรับความเป็นกรดในอาหาร และเครื่องดื่ม

 

 

  • กรดมาลิก (Malic Acid) 

สามารถพบได้ทั่วไปตามธรรมชาติ โดยเฉพาะในผลไม้ชนิดแอปเปิ้ลและองุ่น
กรดมาลิกมีหน้าที่ :
- ใช้เพื่อควบคุมความหวาน แต่งรส
- ยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์
- สารช่วยจับอนุมูลอิสระ (Sequestrant)
- ปรับความเป็นกรด 

 

Tips : สารช่วยจับอนุมูลอิสระ (Sequestrant) มีหน้าที่เป็น Chelating Agent ถูกนำมาในการถนอมอาหาร โดยทำปฏิกิริยากับโลหะ ซึ่งเป็นองค์ประกอบของอาหารโดยธรรมชาติ เนื่องจาก โลหะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อาหารเสื่อมเสีย (food spoilage) เช่น การออกซิเดชันของลิพิด (lipid oxidation) ที่ทำให้อาหารมี สี กลิ่น รส และคุณค่าทางโภชนาการ เปลี่ยนไป

 

แต่หลาย ๆ คนก็อาจจะสงสัยว่า ‘วัตถุเจือปนอาหาร หรือ Food Additive’ มีอันตรายหรือไม่ เราจะมารู้ตอบกัน
 

Food Additive หรือ วัตถุเจือปนอาหาร คือสารที่เพิ่มเข้าไปในอาหารเพื่อเพิ่มคุณสมบัติของอาหาร สารเหล่านี้มักถูกใช้ในอาหารเพื่อเพิ่มรสหรือกลิ่นของอาหาร, ป้องกันการเสียหายจากจุลินทรีย์, ควบคุมความเหลวหรือความแข็ง และรักษาความสดใหม่ของอาหาร ซึ่งมีผลต่อคุณภาพ มาตรฐาน หรือลักษณะของอาหาร 

 

การจัดแบ่งกลุ่มวัตถุเจือปนอาหาร

โดยโคเด็กซ์ (Codex) ได้จัดแบ่งกลุ่มวัตถุเจือปนอาหารตามหน้าที่  ออกเป็น 27 กลุ่ม ดังนี้ 

  1. สารควบคุมความเป็นกรด (Acidity regulator)
  2. สารป้องกันการจับตัวเป็นก้อน (Anticaking)
  3. สารป้องกันการเกิดฟอง (Antifoaming agent)
  4. สารป้องกันการเกิดออกซิเดชั่น (Antioxdant)
  5. สารฟอกสี (Bleaching agent)
  6. สารเพิ่มปริมาณ (Bulking agent)
  7. สารให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbonating agent)
  8. สารช่วยทำละลายหรือช่วยพา (Carrier)
  9. สี (Colour)
  10. สารคงสภาพของสี (Colour retention agent)
  11. อิมัลซิไฟเออร์ (Emulsifier)
  12. เกลืออิมัลซิไฟอิ้งค์ (Emulsifying agent)
  13. สารทำให้แน่น (Firming agent)
  14. สารเพิ่มรสชาติ (Flavour enhancer)
  15. สารปรับปรุงคุณภาพแป้ง (Flour treatment agent)
  16. สารทำให้เกิดฟอง (Foaming agent)
  17. สารทำให้เกิดเจล (Gelling agent)
  18. สารเคลือบผิว (Glazing agent)
  19. สารทำให้เกิดความชุ่มชื้น (Humectant)
  20. ก๊าซที่ช่วยในการเก็บรักษาอาหาร (Packaging gas)
  21. สารกันเสีย (Preservative)
  22. ก๊าซที่ใช้ขับดัน (Propellant)
  23. สารช่วยให้ฟู (Raising agent)
  24. สารช่วยจับอนุมูลอิสระ (Sequestrant)
  25. สารทำให้คงตัว (Stabilizer)
  26. สารให้ความหวาน (Sweetener)
  27. สารให้ความข้นเหนียว (Thickener)  

 

Tip : Codex มีหน้าที่กำหนดมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศให้เป็นมาตรฐานสากล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องคุ้มครองสุขภาพอนามัยของ
ผู้บริโภคและเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในด้านการค้าระหว่างประเทศ

 

และในการใช้วัตถุเจือปนอาหาร (Food Additive) จึงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยปริมาณการใช้วัตถุเจือปนอาหาร ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดให้ใช้ในแต่ละประเภทอาหารต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค จึงจำเป็นใช้ต้องมีการประเมินด้านความปลอดภัยโดย JECFA หรือผ่านการประเมินที่มีความเทียบเท่ากับ JECFA เพื่อกำหนดค่าความปลอดภัย (Acceptable Daily Intake: ADI) คือปริมาณของวัตถุเจือปนอาหาร (Food Additive)ที่แสดงในรูปของมิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัวต่อวัน โดยบริโภคได้ทุกวันตลอดชีวิตโดยไม่เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ

 

องค์กรที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพและมาตรฐานของวัตถุเจือปนอาหาร

1. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

เป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงกับกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ควบคุมการผลิต การนำเข้า การแจกจ่าย และออกกฏเกณฑ์เกี่ยวกับ อาหาร ยา วัตถุเสพติด เครื่องสำอาง วัตถุอันตราย เครื่องมือแพทย์ สมุนไพร

2. Joint FAO/WHO Expert Committee on Food Additives (JECFA)

เป็นหน่วยงานรวมกันระหว่าง FAO ของ UN และ WHO ซึ่งทาง อย. ของเราให้การเชื่อถือและอ้างอิงมาตรฐานต่างๆ มีการกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานและค่าความปลอดภัยไว้ในมาตรฐานสากล (JECFA specification หรือ Codex Advisory Specification for the identity and Purity of food Additives) ของวัตถุเจือปนอาหาร (Food Additive) แต่ละตัว

3. European Food Safety Authority (EFSA)

เป็นหน่วยงานกลางของ EU ที่ออกกฏเกณฑ์และการควบคุมสิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้องกับอาหารคนและอาหารสัตว์ ซึ่งรวมถึงการใช้วัตถุเจือปนอาหารด้วย ทั้งนี้ EFSA เป็นคนที่กำหนด E-number

 

ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลไปว่าลูกอมที่รับประทานนั้นจะอันตราย แต่หากบริโภคลูกอมที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบหลักมาก ๆ อาจจะทำให้เกิดฝันผุ และโรคอ้วนตามมา ดังนั้นควรบริโภคแต่พอดีจะดีที่สุด 

 

สุดท้ายนี้ ขอให้ทุกคนสนุกไปกับเทศกาลวันฮาโลวีน ด้วยความห่วงใย เอเพกซ์ เคมิเคิล 

 


ขอขอบคุณ แหล่งที่มา