ไขข้อสงสัย CAS Number คืออะไร?
หลาย ๆ คนอาจจะเคยได้ยินคำว่า “เลข CAS” ที่นักวิทย์ นักวิจัย หรือจัดซื้อ ผู้ที่อยู่ในแวดวงเคมีพูดกัน แต่ความหมายและที่มาของมันคืออะไรกันแน่ เอเพกซ์ เคมิเคิล รวบรวมคำตอบที่คุณสงสัยไว้หมดแล้วในบทความนี้
CAS Number หรือ CAS registry numbers ที่ย่อมาจาก Chemical Abstracts Service คือชุดตัวเลขอ้างอิงเฉพาะของสารเคมีแต่ละชนิด หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นตัวระบุชนิดของสารเคมี (Identifier) ใช้สำหรับจำแนกสารประกอบเคมี, พอลิเมอร์, สารประกอบทางชีวภาพ, ของผสม และ โลหะผสม
CAS Number นั้นส่วนใหญ่จะอยู่บนฉลากสินค้า ซึ่งการอ่านฉลากสินค้าช่วยให้รู้จักรายละเอียดของสินค้า, วิธีการใช้สินค้าอย่างปลอดภัย รวมถึงระบุความถูกต้องของสารเคมีได้
โดยทั่วไปสารเคมีตัวเดียวกันจะต้องมีโครงสร้างเหมือนกัน แต่สิ่งที่แตกต่างกัน คือ ชื่อที่ใช้เรียกสารเคมี ไม่ว่าจะเป็นชื่อทางการค้า ชื่อเรียกทั่วไป หรือชื่อที่ใช้เรียกตามสูตรโครงสร้าง ซึ่งการเรียกชื่อเหล่านี้มาจากความสะดวกในการใช้ของแต่ละคน จนทำให้บางครั้งการเรียกชื่อที่ต่างกันอาจทำให้ไม่แน่ใจว่าสารที่พูดถึงนั้นเป็นตัวเดียวกันหรือไม่ และอาจก่อให้เกิดข้อผิดพลาดในการสื่อสาร รวมถึงการเลือกใช้สารเคมีให้ถูกต้อง อีกทั้งในปี 2023 มี CAS Registry หรือสารเคมีในระบบมากกว่า 219 ล้านรายการ และมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อย ๆ
ดังนั้น จึงมีการกำหนดให้จำแนกสารประกอบเคมีด้วยการลงทะเบียนเข้าสู่ฐานข้อมูลของ Chemical Abstracts Service ซึ่งเป็นหน่วยงานของ สมาคมเคมีแห่งประเทศสหรัฐอเมริกัน หรือ American Chemical Society (ACS) เพื่อให้เป็นข้อมูลกลางที่ทุกคนเข้าใจร่วมกัน ที่เรียกว่า CAS Registry หรือหมายเลข CAS โดยเป็นระบบที่สามารถระบุชนิดของสารเคมีได้ ไม่ว่าจะเรียกชื่อสารเคมีว่าอะไรก็ตาม รวมถึงยังเป็นฐานข้อมูลเพื่อความสะดวกในงานวิจัยต่าง ๆ อีกด้วย
สารประกอบที่มีการลงทะเบียนในฐานข้อมูลของ Chemical Abstracts Service ได้แก่
สารประกอบอินทรีย์ (Organic compounds)
สารประกอบอนินทรีย์ (Inorganic compounds)
โลหะ (Metals) และอัลลอยด์ (Alloys)
แร่ (Minerals)
สารประกอบเชิงซ้อน (Coordination compounds) และสารโลหะอินทรีย์ (Organometallics)
ธาตุ (Elements)
ไอโซโทป (Isotopes)
อนุภาคนิวเคลียร์ (Nuclear Particles)
โปรตีนและกรดนิวคลีอิก (Proteins and Nucleic Acids)
พอลิเมอร์ (Polymers)
Non-structural materials (UVCBs) เป็นต้น
CAS Number ประกอบไปด้วยตัวเลข 3 ส่วน และมีตัวเลขสูงสุดไม่เกิน 9 หลัก
CAS Number xxxxxx-xx-x โดยจะถูกแยกออกเป็นส่วน โดยเครื่องหมาย Hyphens (-) ดังนี้
ส่วนที่ 1 ประกอบไปด้วยตัวเลขสูงสุด 6 หลัก คือ หมายเลขลงทะเบียน
ส่วนที่ 2 ประกอบไปด้วยตัวเลขสูงสุด 2 หลัก คือ หมายเลขแสดงลำดับของสารเฉพาะ
ส่วนที่ 3 ประกอบไปด้วยตัวเลขสูงสุด 1 หลัก คือ หมายเลขตรวจสอบ (check digit) เพื่อใช้ตรวจสอบความถูกต้องของตัวเลข 2 ส่วนแรก
ตัวอย่างการอ่าน CAS Number เช่น Acetone CAS Number : 67-64-1
เราสามารถอ่านได้ง่ายๆ ดังนี้
ส่วนที่ 1 หมายเลข 67 คือ หมายเลขลงทะเบียน
ส่วนที่ 2 หมายเลข 64 คือ หมายเลขแสดงลำดับของสารเฉพาะ
ส่วนที่ 3 หมายเลข 1 คือ หมายเลขตรวจสอบ
Benzophenone CAS Number : 119-61-9
ส่วนที่ 1 หมายเลข 119 คือ หมายเลขลงทะเบียน
ส่วนที่ 2 หมายเลข 61 คือ หมายเลขแสดงลำดับของสารเฉพาะ
ส่วนที่ 3 หมายเลข 9 คือ หมายเลขตรวจสอบ
Calcium oxide CAS Number : 1305-78-8
ส่วนที่ 1 หมายเลข 1305 คือ หมายเลขลงทะเบียน
ส่วนที่ 2 หมายเลข 78 คือ หมายเลขแสดงลำดับของสารเฉพาะ
ส่วนที่ 3 หมายเลข 8 คือ หมายเลขตรวจสอบ
Tips : อย่างไรก็ตามสารเคมีจะถูกกำหนดตามลำดับการลงทะเบียน เช่น ถ้าสารเคมีที่มีการลงทะเบียนทีหลังจะมีหมายเลขลงทะเบียนจำนวนหลักมากกว่าสารเคมีที่ลงทะเบียนก่อน เป็นต้น
ทำให้ง่ายต่อการค้นหา และจัดการข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีต่าง ๆ
ป้องกันการสับสน CAS Number จะทำให้ลดข้อผิดพลาดในการสื่อสาร หรือการเรียกชื่อสารเคมีที่ใช้ต่างกันได้
ตรวจสอบความถูกต้องของสารได้ โดยสามารถตรวจสอบ CAS Number ในฐานข้อมูลของ Chemical Abstracts Service
สามารถใช้ในการนำเสนอข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ โดยสามารถระบุ CAS Number และชื่อสาร ประกอบวิทยานิพนธ์ งานวิจัย หรือผลงานทางวิทยาศาสตร์อื่น ๆ ได้
CAS Number มีบทบาทในการติดตามและจัดการกับสารเคมีที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ที่ทำให้มีการควบคุมความปลอดภัยได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สารเคมีอาจมีบางกลุ่มที่ใช้ CAS Number ชุดเดียวกัน เช่น
กลุ่ม Alcohol Dehydrogenase / CAS Number : 9031-72-5
กลุ่ม Mustard oil / CAS Number : 8007-40-7
สารเคมีที่มีสูตรโมเลกุลเหมือนกัน แต่มีโครงสร้างต่างกัน (Isomer) จะมี CAS Number ต่างกัน เช่น
D-Glucose CAS Number : 50-99-7
L-Glucose CAS Number : 921-60-8
α-D-Glucose CAS Number : 26655-34-5
แต่ทั้ง D-Glucose, L-Glucose และ α-D-Glucose มีสูตรโมเลกุล C6H12O6 เหมือนกัน แต่ใช้ CAS No. ต่างกันนั่นเอง
หมายเหตุ : แต่ในบางครั้งการตรวจสอบเพียงตัวเลขอย่างเดียว ก็อาจจะทำให้เกิดข้อผิดพลาดได้เช่นกัน
ในกรณีถ้าไม่รู้จักว่าตัวเลขแต่ละตัวมาจากไหน หรือมีชุดตัวเลขบางชนิดที่สารต่างกันแต่ใช้ชุดตัวเลขเหมือนกัน
ดังนั้นการเลือกใช้ข้อมูลควรเลือกดูจากหลาย ๆ ด้านเพื่อลดข้อผิดพลาดในการใช้สารเคมี
ถ้ามีข้อสงสัยในเรื่องของสารเคมี เอเพกซ์ เคมิเคิล มีผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมไขข้อสงสัยเหล่านั้นให้กับคุณ
Apex Chemicals
ขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก
Everything You Need To Know About CAS Numbers, https://chemwatch.net/blog/everything-you-need-to-know-about-cas-numbers/
CAS REGISTRY and CAS Registry Number FAQs, https://chemwatch.net/blog/everything-you-need-to-know-about-cas-numbers/
เลขทะเบียน CAS , https://th.wikipedia.org/wiki/เลขทะเบียน_CAS